วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2555

แมลงศัตรูมะพร้าว

ปลายปีนี้มาเริ่มงานกับมะพร้าว จากปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวที่ดูเหมือนว่ายังแก้ไม่ถูกที่สักที ก่อนหน้านี้หลายปีมะพร้าวเคยได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของแมลงดำหนาม พื้นที่ที่มีผลกระทบตอนนั้นมีทั้งภาคใต้ ตะวันออก และภาคกลางแมลงนี้ทำลายใบยอดอ่อนมะพร้าว ทำให้มะพร้าวแสดงอาการที่เรียกว่าหัวหงอก คือใบใหม่ ๆจะถูกทำลายก่อน และเมื่อใบแก่ใบเหล่านั้นก็จะแห้ง
แมลงศัตรูธรรมชาติเป็นพระเอกการควบคุมได้ผลดี ช่วงนั้นไม่ได้สัมผัส ไม่ได้ไปทำงานด้วยได้แต่มองดูห่าง ๆ แต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ก็ได้ทราบข้อมูลจากเพื่อนๆ พี่ๆ ว่ามีแมลงศัตรูชนิดใหม่มาอีกแล้ว  เรียกว่าหนอนหัวดำ รุนแรงกว่าแมลงดำหนามเพราะหากรุนแรงก็ทำให้ยืนต้นตายได้
หนอนหัวดำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Opisina arenosella Walker มีผู้รายงานว่าพบการระบาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน 2551 ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ปทุมธานี นนทบุรี นครสวรรค์ และศรีสะเกษ และเมื่อสำรวจเพิ่มเติมจนถึงเดือนกรกฎาคม 2553 พบว่าแมลงชนิดนี้ระบาดเพิ่มขึ้นอีก 2 จังหวัด คือ นครราชสีมา และอุทัยธานี และมีแนวโน้มระบาดเพิ่มขึ้น แมลงชนิดนี้ลงทำลายในพืชอาศัยหลายชนิด เช่น มะพร้าว ตาลโตนด กล้วย กะพ้อ และปาล์มประดับอื่น ๆ อีกหลายชนิด
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ลำตัวแบน ยาวประมาณ 1.0-1.2 เซนติเมตร ปีกมีเกล็ดสีเทาเงินปกคลุม ปลายปีกมีสีเทาเข้ม กลางวันมักเกาะนิ่ง หลบซ่อนอยู่ใต้ใบมะพร้าว หรือในที่ร่ม โดยที่สำตัวติดกับผิวพื้นที่ใบที่เกาะ แม่ผีเสื้อวางไข่ในใบพืชที่เป็นรัง หรืออุโมงค์ที่ตัวหนอนสร้างไว้ ระยะหนอนที่ยาวนาน 32-48 วัน ทำให้การทำลายรุนแรง ใบแก่หรือเนื้อเยื่อพืชที่มีสีเขียวจะถูกกัดกินผิวใบจนเหลือแต่ก้านใบ

การป้องกันกำจัดยังมีเพียง การตัดใบที่มีหนอนลงทำลาย นำไปเผาทิ้ง  และพ่นด้วยชีวภัณฑ์ Bacillus thuringiensis kurstaki  และ B. thuringiensis aizawai รวมทั้งการใช้แตนเบียนปล่วยเพื่อช่วยควบคุม
แตนเบียนที่บ้านเรามีอยู่ยังไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุมเท่าที่ควร การนำเข้าแตนเบียนจากต่างประเทศก็เป็นสิ่งจำเป็นแต่คงต้องรอการศึกษาผลกระทบด้านต่าง ๆ และการพิจารณาจากเกี่ยวกับการกักกันพืช เพื่อให้อนุญาตนำมาใช้ในแปลงจริงได้

ผู้เขียนเองก็รออยู่เหมือนกัน ลุ้นว่าเมื่อไร และประสิทธิภาพเขาจะคุมการรอคอยไหม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น