วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556

หนอนหัวดำมะพร้าว

เพิ่งได้ทำความรู้จักหนอนหัวดำมะพร้าวไม่นานมานี้ ประมาณปลายปีที่แล้วที่กุยบุรี แม้จะทำงานทางด้านการเกษตรแต่ก็เหมือนคนนอกวงการไม่ทราบสถานการณ์หรือทราบแต่ก็ไม่ตระหนักถึงความรุนแรง ความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากจำได้ประมาณ ปี 2547 บ้านเราก็เจอปัญหาแมลงทำลายมะพร้าวที่รุนแรงมาครั้งหนึ่ง คือ แมลงดำหนาม ทำลายมะพร้าวทั้งในระยะหนอนและตัวเต็มวัยกัดกินผิวใบอ่อนมะพร้าว (ยอดกลมที่ยังไม่คลี่เต็มที่) ทำให้มีอาการใบไหม้สีน้ำตาลหากมีการระบาดมากจะเห็นต้นมะพร้าวที่ถูกทำลายมีใบขาวโพน หรือ เรียกว่าโรค "หัวหงอก"
ความเสียหายจะรุนแรงยิ่งขึ้นในสภาพพื้นที่แห้งแล้งติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน สาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดแพร่ไปในบริเวณกว้างสันนิษฐานว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ทำให้เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายและการเพิ่มปริมาณประชากรอย่างรวดเร็วในแหล่งที่มีอาหารบริบูรณ์และปราศจากศัตรูธรรมชาติคอยควบคุม การควบคุมครั้งนั้นใช้การควบคุมโดยชีววิธี โดยนำเข้าแตนเบียนแมลงดำหนามมาจากเวียดนาม ช่วงนั้นไม่ได้มีโอกาสเห็นพื้นที่จริง แต่จากที่ได้รับการบอกเล่ามาก็รุนแรงมาก แต่แตนเบียนควบคุมได้ผลในเวลาต่อมา
หนอนหัวดำ ผู้รุกรานรอบใหม่น่าจะมาที่ไกลมาเจอที่เหมาะสม เลยแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำความเสียหายรุนแรงจนทำให้มะพร้าวยืนต้นตายได้ ที่รุนแรงมากก็ที่ทับสะแก กุยบุรี การควบคุมก็ทำได้ยากเพราะเขาจะสร้างอุโมงมาห่อหุ้มไว้ ตอนนี้ยังไม่มีการควบคุมที่ได้ผล รอแตนเบียนชนิดที่มีประสิทธิภาพอยู่
พื้นที่สมุยกลับพบเหตุการณ์ที่แปลกมาก คือก่อนที่พวกเราจะเข้าไปทำงานก็คาดการณ์ว่าแมลงดำหนามคงระบาดรุนแรงมาก เพราะก่อนหน้านี้เราเข้าทำงานที่กุยบุรีที่นั่น หนอนหัวดำระบาด  ภาพที่เป็นประสบการณ์ก็บอกว่าคงเป็นหนอนหัวดำ แต่หลังจากสำรวจอย่างจริงจังแล้วพบว่าที่เกาะสมุยมีแมลงศัตรู 4 ชนิดระบาด รุนแรงแตกต่างกัน
แมลงดำหนามที่เงียบหายไปหลายปี แต่พอปี 2555 พบระบาดอีกครั้งที่เกาะสมุยแต่รุนแรงน้อยกว่าครั้งก่อน ตามคำบอกเล่าของคนที่เห็นทั้ง 2 เหตุการณ์ กลายเป็นแมลงที่พบทั่วไปทั้งเกาะ พบแทบทุกพื้นที่แต่ไม่รุนแรงยกเว้นทางดานตะวันออก และด้านใต้ของเกาะ หนอนหัวดำพบรุนแรงทางตอนเหนือของเกาะ ด้วงแรดพบทั่วไปแต่เขาไม่ได้ทำให้มะพร้าวตาย แต่เขาจะเปิดช่องทางให้ด้วงงวงเข้าทำลายซ้ำจนยอดหักและยืนต้นตายในที่สุด ซึ่งมะพร้าวที่โดนด้วงงวงทำลายจะพบมากหน้าเมือง มะเร็ด และบ่อผุด ซึ่งมีขยะอินทรีย์มาก เช่น มาจากชุมชน ปางช้าง บ่อนควาย ต้องใช้หลายวิธีร่วมกันในการควบคุม และคนในเกาะสมุยคงต้องช่วยกัน หน่วยงานของเราได้ส่งแตนเบียนเข้าไปในพื้นที่เป็นระยะและอยากให้กระจายในพื้นที่ที่เป็นปัญหา ไม่อยากให้ไปทิ้งกองอยู่ที่เกษตรอำเภอ หรือเทศบาล หากทุกท่านได้รู้ว่ากว่าพวกเราจะเลี้ยวแตนเบียนออกมาได้ต้องใช้ความพยายามมากขนาดไหน ต้องดูแลอย่างดี ประคบประหงม แต่ผู้รับไม่ทราบว่ากว่าจะเป็นแตนเบียน 1 ตัวต้องใช้ทรัพยากรมากขนาดไหน พวกเราเสียใจที่ได้รับคำบอกกล่าวว่าถูกทิ้งกอง  หรือปล่อยให้มดมากินอะไรทำนองนี้ การปล่อยรอบใหม่จึงอยากช่วยประชาสัมพันธ์ให้รู้ทั่วกัน เพื่อให้การควบคุมได้ผล